Skip to main content
x

 

ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด (1)

 

                    ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มักจะเป็นประเด็นที่ศาลหรือองค์กรวินิจฉัยต่าง ๆ หยิบยกขึ้นมาพิจารณาไม่เว้นแม้แต่ ก.พ.ค.  วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จึงขอเสนอความรู้ในเรื่องดังกล่าว  เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสื่อสารให้ท่านผู้อ่าน  รวมทั้งเพื่อนข้าราชการทั้งหลายได้รับทราบพอเป็นสังเขป
                    ระยะเวลาที่ปรากฏในกฎหมายต่างๆ เช่น “ภายใน...วัน นับแต่...” หรือ “ไม่เกิน...วัน นับแต่...” หากพิจารณาตามสภาพบังคับแล้วสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ระยะเวลาบังคับและระยะเวลาเร่งรัด
                    ระยะเวลาบังคับ หมายถึง ระยะเวลาที่กำหนดให้ผู้อยู่ใต้บังคับแห่งกฎหมายนั้นต้องกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่กฎหมายกำหนดไว้ภายในระยะเวลานั้น  หากไม่กระทำการภายในกำหนดจะส่งผลกระทบต่อความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำนั้น เช่น ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจไม่มีอำนาจตามกฎหมายได้อีกต่อไป หรือ มีผลให้สิทธิต่าง ๆ ที่กำหนดไว้แก่บุคคลนั้นสูญสิ้นไป เป็นต้น
                    ทั้งนี้ การกำหนดให้มีระยะเวลาบังคับตามกฎหมายนั้น มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 
                    1. เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ด้วยหลักการนี้กฎหมายมักจะกำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดหรืองดเว้นกระทำการใดภายในกำหนด  เพื่อให้มีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจกระทำการใดตามกฎหมายที่กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพภายในกรอบระยะเวลานั้น เช่น ตามประมวลรัษฎากรกำหนดระยะเวลาให้เจ้าหน้าที่ต้องประเมินภาษีย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี ถ้าเจ้าหน้าที่ทำการประเมินเกินระยะเวลาดังกล่าว การประเมินก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น
                    2. เพื่อให้การบริหารงานภาครัฐมีประสิทธิภาพสำเร็จลุล่วงภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยหลักการนี้กฎหมายมักจะกำหนดให้บุคคลหรือเอกชนกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งภายในระยะเวลาที่กำหนด  มิเช่นนั้นก็จะหมดสิทธิที่มีอยู่ หรือ ไม่อาจก่อตั้งสิทธิที่จะมีขึ้นได้ ซึ่งมีผลต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วย หากบุคคลได้กระทำการล่วงเลยระยะที่กำหนดไว้แม้เจ้าหน้าที่ของรัฐจะรับไว้ก็ตาม แต่ก็ไม่มีอำนาจพิจารณา เช่น กรณีที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง  หากผู้มีสิทธิอุทธรณ์ไม่ยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนด ส่งผลให้ผู้นั้นหมดสิทธิที่จะได้การพิจารณาอุทธรณ์
                    ครั้งนี้ คงกล่าวได้แค่ระยะเวลาบังคับ  สำหรับระยะเวลาเร่งรัดคงติดค้างไว้ครั้งถัดไปนะคะ

 

(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  คอลัมน์ ก.พ.ค. ขอบอก  ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2559)

 

วันที่