Skip to main content
x
 

ปลอมและใช้ปริญญาบัตรปลอม โทษถึงออกจากราชการ 

          
                    วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” มีคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง มาบอกกล่าวให้รู้ทั่วกันเป็นเรื่องของข้าราชการที่อุทธรณ์คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ ฐานกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ตามมาตรา 85 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. แล้วนำไปใช้อ้างเพื่อขอปรับเพิ่มวุฒิการศึกษา ผู้อุทธรณ์จึงอุทธรณ์ขอให้ ก.พ.ค. พิจารณาบรรเทาโทษให้เบาลง เพื่อให้ผู้อุทธรณ์สามารถดำรงชีพอยู่ได้ เพราะขณะนี้ผู้อุทธรณ์ป่วยหลายโรค เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน เป็นต้น ต้องไปพบแพทย์และเจาะเลือดทุก 3 เดือน เป็นเวลาต่อเนื่องมากว่า 8 ปีแล้ว
                     เรื่องนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานปกครองซึ่งปฏิบัติหน้าที่ที่ทำการปกครอง ได้นำสำเนาปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่แสดงว่าสอบไล่ได้ตามหลักสูตรปริญญาตรีแล้ว จำนวน 2 ฉบับ ไปยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อขอเพิ่มวุฒิการศึกษา แต่เมื่อหน่วยงานได้ขอให้สำนักทะเบียนและวัดผลของมหาวิทยาลัยดังกล่าวตรวจสอบปริญญาบัตรทั้ง 2 ฉบับ แล้วพบว่าผู้อุทธรณ์เคยเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย แต่ขาดสถานภาพการเป็นนักศึกษาแล้ว เอกสารที่ส่งไปตรวจสอบเป็นเอกสารปลอม ทางมหาวิทยาลัยจึงได้แจ้งความดำเนินคดีกับผู้อุทธรณ์ในข้อหาปลอมแปลงเอกสารราชการ (ปริญญาบัตร) และใช้เอกสารปลอม ขณะเดียวกันทางต้นสังกัดก็ได้มีการดำเนินการทางวินัยกับผู้อุทธรณ์ และที่สุดแห่งการสอบสวนพิจารณา ผู้บังคับบัญชาได้สั่งลงโทษลดขั้นเงินเดือนผู้อุทธรณ์ 1 ขั้น
                     ส่วนผลในทางคดีอาญา คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกผู้อุทธรณ์ 1 ปี ฐานใช้เอกสารราชการปลอม ผู้บังคับบัญชาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนในกรณีดังกล่าวแล้วเห็นว่า การกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นการกระทำความผิดอาญาจนได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 1 ปี ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง จึงมีคำสั่งลงโทษไล่ผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ อันเป็นการลงโทษในความผิดตามคำพิพากษาของศาล ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาเห็นว่า กรณีนี้แม้ผู้อุทธรณ์จะกระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรงก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการหรือละทิ้งหน้าที่ราชการ ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีกำหนดว่าควรลงโทษไล่ออกจากราชการ โดยที่เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์ถูกลงโทษจำคุกในคดีใช้เอกสารราชการปลอม ความร้ายแรงของคดีจึงยังไม่น่าจะเทียบเท่ากับคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ หรือเป็นภัยต่อสังคม ประกอบกับพฤติการณ์ในการปฏิบัติงานที่ผ่านมาและในชั้นอุทธรณ์อดีตผู้บังคับบัญชาก็ได้มีหนังสือรับรองความประพฤติของผู้อุทธรณ์อีกด้วย กรณีจึงมีเหตุอันควรลดหย่อนโทษให้แก่ผู้อุทธรณ์ ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้คู่กรณีในอุทธรณ์ลดโทษให้แก่ผู้อุทธรณ์จากไล่ออกเป็นปลดออกจากราชการ ตั้งแต่วันออกจากราชการตามคำสั่งเดิม ซึ่งนับเป็นความโชคดีของผู้อุทธรณ์รายนี้ที่ได้รับการลดหย่อนโทษ
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 21 ก.ค. 58)
 
วันที่