Skip to main content
x

 

ประเมินเลื่อนเงินเดือนไม่เป็นธรรม

                    

                      ในแต่ละปีงบประมาณข้าราชการต้องได้รับการประเมินผลการปฏิบัติราชการเพื่อเลื่อนเงินเดือน 2 ครั้ง  คือ  ครั้งที่ 1  (1 ตุลาคม – 31 มีนาคม )  ครั้งที่ 2  (1 เมษายน – 30 กันยายน) ในการประเมินแต่ละครั้งจะต้องดำเนินการตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1012/ ว 20 ลงวันที่ 3 กันยายน 2552 เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ
                       เรื่องนี้ นาย น. ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่า นาง ภ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาประเมินผลการปฏิบัติราชการของตน ครั้งที่ 1 ในปีงบประมาณ 2556 (1 ตุลาคม 2555- 31 มีนาคม 2556) อย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ตนได้รับการเลื่อนเงินเดือนในระดับดีเด่น แต่ได้เลื่อนเงินเดือนเพียง 2.7 % ซึ่งเป็นเกณฑ์ต่ำสุดของระดับดีเด่น
                       ก.พ.ค. ได้พิจารณาการประเมินผลการปฏิบัติราชการของนาง ภ. แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า ทางกรมได้มอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้ประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาในตัวชี้วัดของประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ แต่นาง ภ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาไม่ได้กำหนดวิธีการประเมินตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมว่าจะประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร แต่กลับประเมินตัวชี้วัดดังกล่าวตามอำเภอใจ ดังจะเห็นได้จาก ในการประเมินผลการปฏิบัติราชการในตัวชี้วัดดังกล่าวมีการประเมินเรื่องเดียวกันทั้งหมด 3 ครั้ง แต่ผลการประเมินกลับมีคะแนนที่แตกต่างกัน ในแต่ละครั้ง นอกจากนี้ นาง ภ. ยังนำเอาหลักเกณฑ์การประเมินในตัวชี้วัดอื่นมากำหนดเป็นตัวชี้วัดของประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการด้วย ซึ่งเป็นผลให้การทำงานของนาย น. ที่มีข้อผิดพลาดเพียงครั้งเดียวแต่ถูกหักคะแนน 2 ครั้ง ซึ่งไม่เป็นธรรมกับนาย น. ก.พ.ค. พิเคราะห์แล้วเห็นว่า นาง ภ. ประเมินผลการปฏิบัติราชการของนาย น. อย่างไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรม จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกเลิกคำสั่งเลื่อนเงินเดือนของนาย น. และเจ้าหน้าที่ที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนาง ภ. และดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติราชการครั้งนี้ใหม่
                       ดังนั้น แม้ข้าราชการผู้ใดที่ได้รับการประเมินผลการปฏิบัติราชการในระดับดีเด่น แต่หากคิดว่าได้รับการประเมินอย่างไม่เป็นธรรม สามารถมาร้องทุกข์ได้นะจ๊ะ ขอบอก   
 
(มติชน คอลัมน์ “ก.พ.ค. ขอบอก” ฉบับวันที่ 26 พ.ค. 58 )
 
วันที่