Skip to main content
x
 

“น่าเสียดาย...”

 

        สวัสดีค่ะ ก.พ.ค. ขอบอกวันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับกำหนดเวลายื่นคำร้องทุกข์มาเล่าอีกแล้วค่ะ เรื่องมีอยู่ว่า... ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ รายหนึ่งซึ่งปฏิบัติราชการอยู่ในต่างจังหวัด ร้องทุกข์ว่า ส่วนราชการที่ตนสังกัดอยู่มีตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ ว่างลง เนื่องจากข้าราชการที่เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวเสียชีวิตและตำแหน่งนี้อยู่ในกลุ่มงานเดียวกับผู้ร้องทุกข์ ผู้ร้องทุกข์ต้องการจะย้ายไปดำรงตำแหน่งนี้ เพราะตำแหน่งที่ว่างเป็นตำแหน่งหัวหน้างาน
        ข้าราชการรายนี้แจ้งว่าได้ติดตามข่าวเรื่องนี้อยู่เสมอว่าเมื่อใดส่วนราชการจะมีประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการ ที่ว่างอยู่ แต่ไม่มีข่าวอะไร จู่ ๆ ก็มีคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการอีกรายหนึ่งซึ่งดำรงตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการ ให้ไปดำรงตำแหน่งเภสัชกรที่ว่างอยู่นี้โดยส่วนราชการทำการปรับ (ลด) ให้เป็นตำแหน่งเภสัชกรปฏิบัติการ/ชำนาญการ/ชำนาญการพิเศษ  ผู้ร้องทุกข์เห็นว่าการแต่งตั้งครั้งนี้ไม่ชอบมาพากล กระทำอย่างรวบรัด มีการเลือกปฏิบัติ ไม่เคยแจ้งข่าวสารใด ๆ ให้ผู้ร้องทุกข์และข้าราชการอื่น ๆ ที่มีส่วนได้เสียทราบเลย อีกทั้งยังแต่งตั้งผู้ที่ดำรงตำแหน่งต่ำกว่าและมีอาวุโสน้อยกว่ามาเป็นหัวหน้าของตน (ขณะแต่งตั้งได้ปรับลดตำแหน่งนี้แล้ว) ผู้ร้องทุกข์รู้สึกคับข้องใจมากจึงร้องทุกข์ขอให้ ก.พ.ค. พิจารณายกเลิกคำสั่งย้ายดังกล่าวและแต่งตั้งคณะกรรมการจากบุคคลภายนอกเพื่อดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเภสัชกรที่ว่างเสียใหม่
        เพื่อน ๆ ข้าราชการต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนนะคะว่า ก่อนที่ ก.พ.ค. จะพิจารณาวินิจฉัยเนื้อหาสาระของเรื่องได้ ก.พ.ค. จะต้องตรวจสอบข้อกฎหมายก่อน ลำดับแรก ผู้ร้องทุกข์มีสิทธิร้องทุกข์หรือไม่ ปรากฏว่า ผู้ร้องทุกข์มีสถานภาพเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงมีสิทธิร้องทุกข์ ลำดับต่อไป เมื่อมีสิทธิร้องทุกข์แล้วต้องพิจารณาว่า เหตุที่อ้างว่าเป็นความคับข้องใจนั้น เข้าเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ 7 ของกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 หรือไม่ ปรากฏว่า ความคับข้องใจของผู้ร้องทุกข์รายนี้เข้าเหตุตามข้อ 7  ลำดับต่อไปคือ ผู้ร้องทุกข์ได้ยื่นคำร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ตามข้อ 8 ของกฎ ก.พ.ค. ฉบับเดียวกัน หรือไม่  เรื่องมาสะดุดตรงประเด็นนี้ค่ะ
        เนื่องจากเหตุแห่งการร้องทุกข์เรื่องนี้เกิดจากคำสั่งย้ายข้าราชการเภสัชกรปฏิบัติการมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องทุกข์เห็นว่าเป็นการย้ายที่ผิดปกติ ไม่เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ยึดหลักคุณธรรมและความรู้ความสามารถ จึงมีประเด็นว่า ผู้ร้องทุกข์ทราบคำสั่งนี้ตั้งแต่เมื่อใด เพื่อจะได้ทราบว่าวันแรกที่ผู้ร้องทุกข์เริ่มเกิดสิทธิในการยื่นคำร้องทุกข์ (เริ่มนับ 1) เป็นวันใดและวันที่ยื่นคำร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. (ส่งทางไปรษณีย์ 5 ส.ค. 57) นั้น อยู่ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันหรือไม่  ผู้ร้องทุกข์อ้างว่าตนเพิ่งทราบคำสั่งย้ายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 แต่เรื่องนี้ไม่มีเอกสารหลักฐานที่แสดงว่าผู้ร้องทุกข์ทราบคำสั่งย้ายเมื่อใด  ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องทุกข์อ้างว่าได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคำสั่งย้ายเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 ซึ่งล่วงเลยเวลาที่ส่วนราชการแจ้งคำสั่งให้ผู้ถูกย้ายทราบถึง 1 เดือนเศษนั้น ผิดปกติวิสัยของผู้ติดตามข่าวสารเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นผู้ร้องทุกข์ นอกจากนี้ คำร้องทุกข์ปรากฏวันที่ในหนังสือเป็น 4 กรกฎาคม 2557 หากเป็นจริงตามที่ผู้ร้องทุกข์กล่าวอ้าง แสดงว่าผู้ร้องทุกข์เขียนหนังสือร้องทุกข์ล่วงหน้าก่อนที่ตนจะทราบเหตุแห่งการร้องทุกข์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องทุกข์ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือและไม่อาจรับฟังได้  ก.พ.ค. จึงไม่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณาและจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ
        จะเห็นว่า การที่ข้าราชการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักการร้องทุกข์นั้น ได้ส่งผลเสียหายกับตัวของข้าราชการผู้ใช้สิทธิร้องทุกข์ หวังว่าเรื่องนี้คงจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับเพื่อน ๆ ข้าราชการทั้งหลายนะคะ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้าค่ะ
 
(มติชน คอลัมน์ “ก.พ.ค. ขอบอก” ฉบับวันที่ 14 เม.ย. 58 )

 

วันที่