Skip to main content
x

 

ทำบัตรประชาชนให้ผู้แอบอ้างเป็นผู้อื่น

 

           “ก.พ.ค. ขอบอก” วันนี้ ขอบอกเรื่องอุทธรณ์ของข้าราชการรายหนึ่ง ซึ่งดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ) ที่ทำการปกครองอำเภอ ศ. จังหวัด อ. อุทธรณ์คำสั่งในการที่ถูกอธิบดี โดยมติ อ.ก.พ. กระทรวง สั่งเพิ่มโทษจากภาคทัณฑ์เป็นตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลา 1 เดือน ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบของทางราชการ ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิด กรณีเมื่อครั้งผู้อุทธรณ์ดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 4) ที่ทำการปกครองอำเภอ พ. จังหวัด อ. ได้อนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลไม่ปรากฏสัญชาติ ซึ่งแอบอ้างสวมตัวเป็นนางสาวชมพู และเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง 6 ว) ที่ทำการปกครองอำเภอ ก. จังหวัด อ. ได้อนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายดำ บุคคลสัญชาติไทยซึ่งแอบอ้างสวมตัวเป็นนายขาว  
          ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กรณีการแอบอ้างสวมตัวเป็นนางสาวชมพู นั้น ผู้อุทธรณ์ได้อนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่บุคคลไม่ปรากฏสัญชาติ ซึ่งแอบอ้างสวมตัวเป็นนางสาวชมพู กรณีบัตรหาย โดยให้ผู้ขอมีบัตรนำบุคคลอื่นมารับรอง ทั้ง ๆ ที่ไม่รู้จักกับผู้ขอมีบัตรจริง และผู้ขอมีบัตรมีอายุเกินกำหนดทำบัตรมามากแล้ว ไม่เคยขอมีบัตรมาก่อน อีกทั้งไม่ตรวจสอบให้ชัดเจนว่าบุคคลที่ยื่นคำขอมีบัตรเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านและเป็นนางสาวชมพู บุคคลสัญชาติไทย จริงหรือไม่ ส่วนกรณีการที่นายดำ สวมตัวเป็นนายขาว ผู้อุทธรณ์ได้อนุญาตให้จัดทำบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่นายดำ ซึ่งแอบอ้างสวมตัวเป็นนายขาว กรณีบัตรหายโดยไม่ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบในการตรวจสอบใบหน้าของผู้ขอมีบัตรกับภาพใบหน้าในฐานข้อมูลการทำบัตรว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันจริงหรือไม่ ทั้งที่ภาพใบหน้ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและยังปรากฏในใบคำขอมีบัตร (บ.ป. 1) ให้เปรียบเทียบเห็นได้โดยง่ายใกล้กับตำแหน่งที่ลงลายมือชื่อ
           ก.พ.ค. เห็นว่า การที่ผู้อุทธรณ์อนุญาตให้ทำบัตรประจำตัวประชาชนแก่บุคคลที่แอบอ้างสวมตัวเป็นนางสาวชมพู และนายดำ ที่แอบอ้างสวมตัวเป็นนายขาว นั้น ผู้อุทธรณ์ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังให้รอบคอบในการตรวจสอบบุคคลผู้ยื่นคำขอมีบัตรว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้านหรือไม่ พฤติการณ์ของผู้อุทธรณ์จึงเป็นความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความอุตสาหะ เอาใจใส่ ระมัดระวังรักษาประโยชน์ของทางราชการ และฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบของทางราชการ ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง และมาตรา 85 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้อยู่ในขณะกระทำความผิด และการที่ อ.ก.พ. กระทรวง มีมติให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์จากภาคทัณฑ์เป็นตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลา 1 เดือน นั้น ก็เป็นการพิจารณาตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ ประกอบกับ อ.ก.พ. กระทรวง เห็นว่า บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารสำคัญของทางราชการและมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ดังนั้น การที่ อ.ก.พ. กระทรวง มีมติให้เพิ่มโทษผู้อุทธรณ์จากภาคทัณฑ์เป็นตัดเงินเดือน 5 % เป็นเวลา 1 เดือน เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
 
(มติชน คอลัมน์ “ก.พ.ค. ขอบอก” ฉบับวันที่ 28 เม.ย. 58)
 
วันที่