Skip to main content
x

 

ตัวอย่างการร้องทุกข์ที่ ก.พ.ค. ไม่รับ (1)

 

                   วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอหยิบยกเรื่องร้องทุกข์เรื่องหนึ่งที่มีประเด็นให้ต้องพิจารณาในลักษณะที่แตกต่างกันไปถึง 3 ข้อ  โดยผลการพิจารณาในแต่ละข้อ ก.พ.ค. เห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดในการที่จะรับไว้พิจารณาแต่อย่างใด 
                    เรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวมีอยู่ว่า ผู้ร้องทุกข์รายหนึ่งได้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ในการที่ปลัดกระทรวงมีคำสั่งให้ย้ายตนเองจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่ง ในตำแหน่งระดับเท่าเดิม  แต่เนื้อหาในหนังสือร้องทุกข์สรุปได้ว่าคับข้องใจที่ผู้บังคับบัญชาในระดับกรมมีคำสั่งเร่งรัดให้ผู้ร้องทุกข์ส่งมอบงานเพื่อออกนอกพื้นที่ภายใน 7 วัน  ผู้ร้องทุกข์จึงร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมมายัง ก.พ.ค.  เพื่อขอให้ ก.พ.ค. พิจารณาขยายระยะเวลาที่ผู้บังคับบัญชาเร่งรัดให้ส่งมอบงานในหน้าที่เพื่อไปรับตำแหน่งใหม่ตามที่ถูกสั่งย้าย  และขอให้ ก.พ.ค. ตรวจสอบพฤติการณ์ที่ผู้บังคับบัญชาและข้าราชการในจังหวัดเดิมที่ตนสังกัดอยู่ว่า มีพฤติการณ์เข้าข่ายเป็นการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขณะเดียวกันผู้ร้องทุกข์ได้มีหนังสือร้องเรียนการทุจริตไปยังหน่วยงานอื่น และร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกสั่งย้ายโดยอ้างว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งดังกล่าว  ทำให้หน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนนั้นต้องส่งหนังสือร้องเรียนมายัง ก.พ.ค. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
                    ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า เรื่องร้องทุกข์นี้ อยู่ในอำนาจพิจารณาของ ก.พ.ค. หรือไม่ โดยมีข้อพิจารณา 3 ข้อ ดังนี้
                             1. อำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 บัญญัติให้อำนาจไว้และมีหลักการอันสำคัญ คือ ผู้ร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์เพื่อตนเอง  ดังนั้น การที่หน่วยงานอื่นส่งเรื่องมาให้ ก.พ.ค. เนื่องจากผู้ร้องทุกข์ได้ร้องทุกข์ว่าคำสั่งของปลัดกระทรวงที่สั่งย้ายผู้ร้องทุกข์นี้เป็นคำสั่งที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ร้องทุกข์ โดยไม่ปรากฏในคำร้องทุกข์ที่ผู้ร้องทุกข์ยื่นต่อ ก.พ.ค. แต่อย่างใดนั้น ไม่อาจถือข้อร้องทุกข์ดังกล่าวมาพิจารณาดังเป็นคำร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์เองได้ ประกอบกับ ก.พ.ค. ได้ให้โอกาสผู้ร้องทุกข์ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับคำร้องทุกข์และคำขอให้มีความชัดเจนเพื่อให้เห็นถึงความประสงค์ที่ผู้ร้องทุกข์ต้องการแล้ว  แต่ผู้ร้องทุกข์ก็ไม่ได้ชี้แจงเพิ่มเติมแต่อย่างใด 
                   ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานอื่น และหน่วยงานนั้นได้ส่งเรื่องมายัง ก.พ.ค. โดยที่ผู้ร้องทุกข์ไม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันต่อ ก.พ.ค. ว่าตนประสงค์จะร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่ใช่การร้องทุกข์ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด  นะ..ขอบอก.. สำหรับข้อพิจารณาใน ข้อ 2 และ ข้อ 3 คงต้องยกยอดไปกล่าวในครั้งถัดไปนะคะ
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รายวัน คอลัมน์ ก.พ.ค. ขอบอก ฉบับวันที่ 21 มิถุนายน 2559)

 

วันที่