Skip to main content
x
 

ดำเนินการอย่างไร เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา          

 

                   วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องการดำเนินการกรณีหน่วยงานต้นสังกัดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา นั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าปลายทางของคดีปกครอง คือ คำพิพากษาของศาลปกครอง โดยที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 70 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “คำพิพากษาศาลปกครองให้ผูกพันคู่กรณีที่จะต้องปฏิบัติตามคำบังคับนับแต่วันที่กำหนดในคำพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขกลับหรืองดเสีย” ดังนั้น หากคำพิพากษา 
เป็นคุณแก่ข้าราชการผู้ฟ้องคดี หน่วยงานต้นสังกัดซึ่งเป็นคู่กรณีก็ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา แต่ก็มีไม่ใช่น้อยที่ข้อเท็จจริงตามสภาพการณ์เปลี่ยนไป หรือมีเหตุให้การปฏิบัติตามคำพิพากษาล่าช้า จึงมีประเด็นน่าคิดว่า ข้าราชการที่ได้รับผลกระทบจากการที่หน่วยงานต้นสังกัดยังไม่มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองจะนำเรื่องดังกล่าวมาร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 122 ซึ่งบัญญัติว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์” ได้หรือไม่
                     เรื่องนี้ ก.พ.ค. เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์รายหนึ่งว่า การที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ให้หน่วยงานต้นสังกัดเพิกถอนคำสั่งลงโทษ อันมีผลให้ต้องมีคำสั่งให้ผู้ร้องทุกข์กลับเข้ารับราชการ แต่หน่วยงานปฏิบัติตามคำพิพากษาล่าช้า โดยเพิ่งมีคำสั่งในเดือนสิงหาคม 2557  ให้ผู้ร้องทุกข์กลับเข้ารับราชการ กับทั้งยังไม่สั่งให้ผู้ร้องทุกข์กลับเข้ารับราชการตั้งแต่วันที่คำสั่งลงโทษเคยมีผลอีกต่างหาก จึงทำให้ผู้ร้องทุกข์เสียสิทธิอันพึงมีพึงได้ ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คู่กรณีในคดีปกครองต้องปฏิบัติต่อเนื่องจากการที่ศาลปกครองมีคำพิพากษา ตามนัยมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ดังนั้น หากผู้ร้องทุกข์ซึ่งเป็นคู่กรณีในคดีปกครองเห็นว่าคู่กรณีอีกฝ่ายไม่ดำเนินการหรือดำเนินการไม่ถูกต้องตามคำพิพากษาของศาล ก็เป็นกรณีที่ผู้ร้องทุกข์จะต้องขอบารมีศาลในการมีคำสั่งหรือคำบังคับให้คู่กรณีอีกฝ่ายปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องร้องทุกข์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์เรื่องนี้ไว้พิจารณาและให้จำหน่ายออกจากสารบบ
                     จากความเห็น ก.พ.ค. ดังกล่าว จึงเป็นที่มาของบทสรุปที่ว่า “ถ้าหน่วยงานต้นสังกัดไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครอง ข้าราชการซึ่งเป็นคู่กรณีต้องไปขอบารมีศาลนะจ๊ะ จะบอกให้”  
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 1 กันยายน 2558)

 

วันที่