Skip to main content
x

         

จำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงหรือไม่

 

          เนื่องจากที่ผ่านมามีคำถามและข้อสงสัยอยู่หลายครั้ง ว่า หากมีเรื่องร้องเรียนกล่าวหาว่ามีข้าราชการผู้ใดกระทำผิดวินัย ผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจจำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงก่อน หรือไม่  และหากแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยไม่ดำเนินการสืบสวนก่อน การดำเนินการนั้นจะชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่  วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” มีเฉลยมาฝากค่ะ
          โดยที่กรณีนี้ พรบ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 91 ประกอบ กฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 ข้อ 5 ได้กำหนดให้ ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องพิจารณาในเบื้องต้น หรือดำเนินการสืบสวนหรือสั่งให้ดำเนินการสืบสวนในเรื่องที่กล่าวหาหรือมีกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการ  ผู้ใดกระทำผิดวินัยเพื่อให้ทราบว่ากรณีมีมูลว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่เสียก่อน
          ในการนี้ ข้อ 5 วรรคสอง ได้กำหนดถึง 2 กรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาว่าข้าราชการผู้นั้นกระทำผิดวินัย  ก็ให้พิจารณาดำเนินการต่อไปไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ร้ายแรงก็ตาม  กล่าวคือ
                    1. กรณีที่เห็นว่ามีมูลจากการดำเนินการสืบสวน
                    2. กรณีที่เห็นว่ามีมูลจากมีพยานหลักฐานในเบื้องต้นอยู่แล้ว
          ทั้งนี้  สำนักงาน ก.พ. เคยตอบข้อหารือในประเด็นเรื่องนี้ไว้แล้วในเรื่องที่ผู้ใต้บังคับบัญชากล่าววาจาก้าวร้าว  ข่มขู่ อาฆาต พยาบาทหมายปองชีวิตผู้บังคับบัญชา  โดยมีพยานเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นกรณีที่ถือได้ว่ามีมูลที่ควรกล่าวหาโดยมีพยานหลักฐาน
ในเบื้องต้นอยู่แล้ว  ผู้บังคับบัญชาจึงสามารถดำเนินการทางวินัยได้  โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนก่อนแต่อย่างใด 
          ดังนั้น  แม้จะเป็นการดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรงหากผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 พิจารณาจากพยานหลักฐานในเบื้องต้นแล้วเห็นว่ากรณีนั้นมีมูลก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินการสืบสวนอีกก็ได้นะ  ขอบอก 
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 5 เมษายน 2559)

 

วันที่