Skip to main content
x

 

คำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามคำวินิจฉัย ก.พ.ค. ร้องทุกข์ไม่ได้ 

            

                   ผู้อ่านบทความ “ก.พ.ค. ขอบอก” คงได้อ่านบทความเกี่ยวกับการร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. มาหลายครั้งแล้ว ท่านคงทราบว่ากรณีข้าราชการพลเรือนสามัญมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา และเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้ ทั้งนี้การร้องทุกข์ที่หัวหน้าส่วนราชการระดับกรมที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือรับผิดชอบการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือต่อรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง รัฐมนตรีเจ้าสังกัด หรือนายกรัฐมนตรี ให้ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. อย่างไรก็ตาม ความคับข้องใจที่เกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติของผู้บังคับบัญชาดังกล่าวบางกรณีไม่สามารถร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ได้ทุกกรณี
                   โดยที่ ก.พ.ค. ได้เคยมีคำวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์มีความคับข้องใจอันเนื่องมาจากปลัดกระทรวงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งที่แต่งตั้งผู้ร้องทุกข์ให้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการ ระดับสูง ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ก.พ.ค. ในเรื่องร้องทุกข์อีกเรื่องหนึ่งว่า การที่ปลัดกระทรวงมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งแต่งตั้ง   ผู้ร้องทุกข์เป็นการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ตามมาตรา 123 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เหตุแห่งการร้องทุกข์หรือความคับข้องใจที่เกิดขึ้น จึงมิได้เกิดจากปลัดกระทรวงเป็นผู้ริเริ่มหรือดำเนินการพิจารณาทางปกครองเพื่อมีคำสั่งทางปกครองขึ้นเอง แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากกระบวนการพิจารณาทางปกครองของ ก.พ.ค. ในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์อีกเรื่องหนึ่ง ดังนั้นผู้ที่ก่อให้เกิดเหตุคับข้องใจหรือคำสั่งอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องทุกข์ในเรื่องร้องทุกข์นี้คือ ก.พ.ค. ซึ่งมิใช่เป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ร้องทุกข์ ผู้ร้องทุกข์ย่อมไม่อาจอ้างความคับข้องใจอันเกิดจาก ก.พ.ค. ว่าเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กรณีเป็นเรื่องที่ไม่มีกฎหมายกำหนดให้มีสิทธิร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. และให้อำนาจ ก.พ.ค. พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ในลักษณะนี้ได้ ประกอบกับกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ข้อ 56 กำหนดว่า เมื่อได้วินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ และได้แจ้งให้คู่กรณีทราบเป็นหนังสือแล้ว คำวินิจฉัยให้เป็นที่สุด ดังนั้น ก.พ.ค. จึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะรับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณาได้ ชอบที่ผู้ร้องทุกข์จะใช้สิทธินำเรื่องนี้ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ต่อไป  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายเรื่องร้องทุกข์ออกจากสารบบ นะจ๊ะ ขอบอก
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 25 สิงหาคม 2558)

 

วันที่