Skip to main content
x

 

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการร้องทุกข์ (9) (ผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย)

 

          คราวที่แล้ว “ก.พ.ค. ขอบอก” ได้ยกตัวอย่างเรื่องที่ ก.พ.ค. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์หากเหตุแห่งทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับต้นเพราะกฎหมายได้บัญญัติให้กรณีเช่นนี้ผู้ร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปตามลําดับ
          สำหรับครั้งนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอยกตัวอย่างเรื่องที่ ก.พ.ค. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ในลักษณะอื่นๆ นอกเหนือจากเหตุแห่งทุกข์เกิดจากผู้บังคับบัญชาระดับต้น เช่น เรื่องของนายแพทย์ชำนาญการพิเศษร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการขอรับการประเมินเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง    นายแพทย์เชี่ยวชาญ จำนวน 2 ครั้ง ซึ่งสำนักงาน ก.พ. ได้พิจารณาคุณสมบัติและประเมินผลงานดังกล่าวทั้ง 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2554 และปี พ.ศ. 2558 แล้วเห็นว่า ผลงานที่ส่งไปประเมินนั้น ยังมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับระดับตำแหน่งที่ขอให้พิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการร้องทุกข์เกิดจากสำนักงาน ก.พ. มิได้เกิดจากผู้บังคับบัญชา คำร้องทุกข์นี้จึงไม่เป็นไปตามมาตรา 122 และมาตรา 123 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบข้อ 7 วรรคหนึ่ง ของกฎก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 จึงวินิจฉัยไม่รับเรื่องร้องทุกข์นี้ไว้พิจารณา
          เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของเจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญงานร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงที่พิจารณาดำเนินการล่าช้า ในเรื่องที่ผู้ร้องทุกข์ถูกทำร้ายร่างกาย  ทั้งที่มีพยานหลักฐานต่างๆ ชัดเจนอยู่แล้ว  ก.พ.ค.พิจารณาแล้วเห็นว่า เรื่องนี้เป็นการร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผู้ร้องทุกข์ต้องร้องเรียนต่ออธิบดี กรณีไม่ใช่การร้องทุกข์ตามที่กฎหมายบัญญัติจึงมีมติไม่รับเรื่องนี้ไว้พิจารณา
          ดังนั้น การจะร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ก็คงต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่า กรณีนั้น ๆ สามารถร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ได้ตามกฎหมาย หรือไม่  เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาของผู้ร้องต่อไป
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 22 มีนาคม 2559)
 
วันที่