Skip to main content
x
 

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการร้องทุกข์ (5) (เหตุแห่งการร้องทุกข์)

 

          “ก.พ.ค. ขอบอก” คราวที่แล้วได้บอกกล่าวในส่วนของเหตุที่จะนำมาร้องทุกข์นั้นจะต้องไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้  ในคราวนี้ จะมาบอกกล่าวต่อในส่วนของเหตุแห่งการร้องทุกข์นั้นต้องมีลักษณะตามที่กฎหมายกำหนดด้วย
          เนื่องจากการร้องทุกข์นั้นมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติวางหลักไว้ว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดมีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาและเป็นกรณีที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้ ผู้นั้นมีสิทธิร้องทุกข์ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในหมวดนี้  ซึ่งกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ข้อ 7 แก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎ ก.พ.ค.ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552  ข้อ 3  ก็ได้กำหนดลักษณะของการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาซึ่งทำให้เกิดความคับข้องใจอันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ไว้ 4 ลักษณะ เพื่อเป็นการกำหนดแนวทางในการร้องทุกข์ของผู้ร้องทุกข์ทั้งหลายว่าต้องเป็นเหตุตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ลักษณะต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดนั้น ได้แก่
                    (1) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติอื่นใด โดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น หรือโดยไม่สุจริต หรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
                    (2) ไม่มอบหมายงานให้ปฏิบัติ 
                    (3) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางเรื่องอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิ  หรือไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร
                    (4) ไม่เป็นไปตามหรือขัดระบบคุณธรรม ตามมาตรา 42
          ดังนั้น  หากเรื่องใดที่ไม่เข้าลักษณะที่กฎหมายกำหนดก็ไม่เป็นเหตุที่จะสามารถมาร้องทุกข์ได้นะจะบอกให้
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2559)

 

วันที่