Skip to main content
x
 

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการร้องทุกข์ (4) (เหตุแห่งการร้องทุกข์)

 

          “ก.พ.ค. ขอบอก” คราวที่ผ่านมาได้บอกกล่าวเพื่อเน้นย้ำแง่มุมเรื่องเหตุแห่งการร้องทุกข์ ในส่วนของการร้องเรียนผู้บังคับบัญชาว่าไม่ดำเนินการทางวินัยกับเพื่อนข้าราชการนั้น  ไม่ใช่กรณีที่ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดต่อผู้ร้องทุกข์อันเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้  สำหรับในครั้งนี้เหตุแห่งการร้องทุกข์ก็ยังคงเป็นประเด็นปัญหาที่ “ก.พ.ค. ขอบอก” อยากจะบอกต่อไป ในประเด็นเรื่องเหตุที่จะนำมาร้องทุกข์นั้นจะต้องไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้อีกด้วย
          กล่าวคือ การพิจารณาในประเด็นนี้ต้องไปดูหลักในเรื่องการอุทธรณ์ประกอบด้วยว่า กฎหมายกำหนดให้เหตุใดที่สามารถอุทธรณ์ได้  ซึ่งมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้บัญญัติว่า ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์...  ดังนั้น แม้ข้าราชการจะมีความคับข้องใจจากการปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาในการที่ถูกสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน  ลดเงินเดือน ปลดออก หรือไล่ออกจากราชการซึ่งล้วนเป็นคำสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 อนุมาตราตามที่กำหนดแล้ว ข้าราชการผู้นั้นก็จะต้องใช้สิทธิอุทธรณ์จะมาใช้สิทธิร้องทุกข์ไม่ได้ 
          ปัญหาในเรื่องที่ข้าราชการไม่พอใจคำสั่งลงโทษ หรือคำสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตราที่กำหนดแล้วมาร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. นั้นมักจะไม่เกิดขึ้น  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกลับเป็นกรณีที่เรื่องนั้นเข้าเหตุแห่งการร้องทุกข์ทุกประการแต่กลับไปใช้สิทธิอุทธรณ์  ดังตัวอย่างของข้าราชการรายหนึ่งถูกดำเนินการทางวินัยและผู้บังคับบัญชาเห็นว่าพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นความผิดวินัยเพียงเล็กน้อยเห็นควรงดโทษ โดยให้ว่ากล่าวตักเตือนหรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือ  กลับมาใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค.  ซึ่งกรณีนี้จะเห็นได้ว่า การว่ากล่าวตักเตือน หรือทำทัณฑ์บนเป็นหนังสือไม่ใช่โทษทางวินัยที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา 114 ได้ กรณีดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ข้าราชการผู้นั้นมีความคับข้องใจจากการปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชาและไม่สามารถอุทธรณ์ได้จึงต้องใช้สิทธิในการร้องทุกข์ 
          ดังนั้น เรื่องที่จะเป็นเหตุแห่งการร้องทุกข์ได้ก็จะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจอุทธรณ์ตามหมวด 9 การอุทธรณ์ได้อีกด้วยนะจะบอกให้
          (ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559)

 

วันที่