Skip to main content
x

 

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการร้องทุกข์

 

          เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมามีเรื่องร้องทุกข์หลายเรื่องที่ ก.พ.ค. ไม่รับพิจารณาหรือสั่งจำหน่ายออกจากสารบบ ด้วยเป็นเรื่องที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ดังนั้น “ก.พ.ค. ขอบอก” ในวันนี้จึงมาขอบอกกล่าวเพื่อเน้นย้ำให้ทราบถึงข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการร้องทุกข์ที่หากข้าราชการผู้ใดอยากจะใช้สิทธินี้ จะได้ใช้อย่างถูกต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้
          ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการร้องทุกข์ อาจสรุปได้ ดังนี้
          1.  คุณสมบัติของผู้ร้องทุกข์
          2.  เหตุแห่งการร้องทุกข์
          3.  ผู้มีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัย
          4.  ระยะเวลาในการร้องทุกข์
          หากพิจารณาไล่เรียงไปตามลำดับแล้ว ในส่วนของหลักเกณฑ์แรก ผู้ที่จะใช้สิทธิร้องทุกข์ได้ มาตรา 122 แห่งพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 กำหนดให้ต้องเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ที่มีความคับข้องใจอันเกิดจากการปฏิบัติ หรือไม่ปฏิบัติต่อตนของผู้บังคับบัญชา... ดังนั้น ข้าราชการพลเรือนสามัญเท่านั้นจึงจะเป็นผู้มีสิทธิร้องทุกข์ประเด็นนี้ไม่น่ามีปัญหาอะไรมาก แต่ก็ปรากฏกรณีให้ ก.พ.ค. วินิจฉัยไม่รับพิจารณาเหมือนกัน เช่น กรณีของนายช่างรังวัดชำนาญงานผู้หนึ่ง ร้องทุกข์ต่อ ก.พ.ค. ว่า ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งย้ายนางขาว เจ้าพนักงานที่ดินอาวุโส ไปดำรงตำแหน่งนายช่างรังวัดอาวุโส โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ตนได้รับความเสียหายเพราะตำแหน่งนายช่างรังวัดอาวุโสเสียไป 1 ตำแหน่ง แต่จากการตรวจสอบพบว่า นายช่างรังวัดชำนาญงานผู้นี้ได้ถูกไล่ออกไปหลายปีก่อนที่จะมีการย้ายนางขาวแล้ว เช่นนี้ อดีตนายช่างรังวัดชำนาญงานผู้นี้ก็ไม่สามารถใช้สิทธิร้องทุกข์ได้ 
          อย่างไรก็ตาม เรื่องของสภาพข้าราชการก็มีข้อยกเว้นอยู่ โดย “ก.พ.ค. ขอบอก” เคยได้บอกกล่าวไปแล้ว ว่า ถ้าขณะเกิดความคับข้องใจ ข้าราชการผู้นั้นมีสภาพเป็นข้าราชการ  และใช้สิทธิร้องทุกข์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบเหตุแห่งทุกข์แล้ว แม้ต่อมาภายหลังข้าราชการผู้นั้นจะพ้นจากการเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญก็ตาม หากพิจารณาคำขอแล้วเห็นว่าสามารถพิจารณาให้เกิดคำบังคับได้ อดีตข้าราชการผู้นั้นก็ยังคงมีสิทธิร้องทุกข์ได้ 
          นอกจากนี้ ประเด็นในเรื่องคุณสมบัติของผู้ร้องทุกข์ ยังรวมไปถึงต้องร้องทุกข์เอง จะร้องทุกข์แทนบุคคลอื่น หรือจะให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนตนเองไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง “ก.พ.ค. ขอบอก” ได้บอกกล่าวไปในคราวที่ผ่านมาแล้ว 
          ดังนั้น คุณสมบัติของผู้ร้องทุกข์จึงเป็นข้อควรคำนึงประการแรกที่ผู้จะใช้สิทธิควรตระหนัก ส่วนหลักเกณฑ์ในประเด็นอื่น ๆ นั้น ค่อยติดตามกันในคราวต่อไปนะคะ
           (ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 26 มกราคม 2559)
 
วันที่