Skip to main content
x

 

การสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบ                 

 

                    วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอเรื่องการสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบ ว่า เมื่อ ก.พ.ค. ได้รับอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว หากต่อมา ก.พ.ค.จะสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบนั้น ตามกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 ข้อ 34 ข้อ 35 วรรคสาม และข้อ 55 วรรคสี่ กำหนดให้ ก.พ.ค. มีอำนาจสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบได้ 3 กรณี คือ 1) กรณีผู้อุทธรณ์ถอนอุทธรณ์ก่อนที่องค์คณะวินิจฉัยจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ 2) กรณีผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตายก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์และไม่มีคำขอของทายาท ผู้จัดการมรดก ผู้รับสิทธิของผู้อุทธรณ์หรือผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาแทนที่ผู้อุทธรณ์ภายในกำหนด 90 วันนับแต่วันที่ผู้อุทธรณ์ถึงแก่ความตาย และ 3) กรณีผู้อุทธรณ์ประสงค์ที่จะทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ หรือไม่ประสงค์ที่จะทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์โดยจะให้พิจารณาอุทธรณ์ต่อไป แต่ไม่ดำเนินการยื่นหรือแจ้งเป็นหนังสือต่อกรรมการเจ้าของสำนวนภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำแก้อุทธรณ์
                    อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ก.พ.ค. จะได้รับอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้วก็ตาม หากต่อมาคู่กรณีในอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งลงโทษผู้อุทธรณ์นั้น เรื่องนี้ ก.พ.ค. ได้เคยมีคำวินิจฉัยว่า กรณีนี้วัตถุแห่งการอุทธรณ์ คือ คำสั่งลงโทษ ดังนั้น ผู้ที่จะมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษจะต้องปรากฏว่ามีคำสั่งลงโทษ และการที่ ก.พ.ค. จะพิจารณาวินิจฉัยคำสั่งลงโทษใด จะต้องปรากฏว่าคำสั่งลงโทษนั้นยังดำรงอยู่ หากคำสั่งลงโทษได้ถูกยกเลิกหรือเพิกถอนโดยผู้ออกคำสั่งนั้นเสียเองแล้ว ย่อมไม่มีความดำรงอยู่ของคำสั่งดังกล่าว และย่อมไม่มีกรณีที่ผู้อุทธรณ์ถูกสั่งลงโทษ ซึ่งเท่ากับวัตถุแห่งการอุทธรณ์หมดสิ้นไป การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมไม่มีประโยชน์อีกต่อไป กรณีนี้ถือได้ว่า ก.พ.ค. มีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายอุทธรณ์ออกจากสารบบได้เช่นกัน
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 11 ส.ค. 58)

 

วันที่