Skip to main content
x
 

การร้องทุกข์แทน

 

            ก.พ.ค. ขอบอกวันนี้จะขอบอกและตอกย้ำในประเด็นเรื่องของการร้องทุกข์แทนว่า บุคคลอื่นสามารถร้องทุกข์แทนผู้มีสิทธิร้องทุกข์ได้หรือไม่
            การร้องทุกข์นั้น กฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการร้องทุกข์และการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ พ.ศ. 2551 ข้อ 8 ได้กำหนดเงื่อนไขสำหรับการร้องทุกข์เอาไว้ว่า ให้ร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์สำหรับผู้อื่นไม่ได้ ดังนั้น ในการร้องทุกข์ จึงมีหลักในเบื้องต้นว่า ผู้ที่จะทำการร้องทุกข์สามารถร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์แทนบุคคลอื่น หรือจะให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนตนเองไม่ได้
            กรณีจึงมีปัญหาว่าหากมีเหตุซึ่งทำให้ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ไม่สามารถร้องทุกข์ด้วยตนเองได้แล้วจะทำอย่างไร จะให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนได้หรือไม่ หลักเรื่องการร้องทุกข์ที่ห้ามไม่ให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนข้างต้นเป็นข้อห้ามเด็ดขาดหรือไม่
            ปัญหาดังกล่าว กฎ ก.พ.ค. ฉบับเดียวกัน ได้กำหนดเหตุบางประการซึ่งทำให้ผู้มีสิทธิร้องทุกข์ไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง เป็นข้อยกเว้นไว้ในข้อ 10 ว่า ผู้มีสิทธิร้องทุกข์จะมอบหมายให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนได้ ในกรณีมีเหตุจำเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ คือ (1) เจ็บป่วยจนไม่สามารถร้องทุกข์ได้ด้วยตนเอง (2) อยู่ในต่างประเทศและคาดหมายได้ว่าไม่อาจร้องทุกข์ได้ทันภายในเวลาที่กำหนด หรือ (3) มีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่ผู้มีอำนาจวินิจฉัยร้องทุกข์เห็นสมควร โดยการมอบหมายให้ร้องทุกข์แทนนั้น จะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้มีสิทธิร้องทุกข์ พร้อมทั้งหลักฐานแสดงเหตุจำเป็นดังกล่าว ถ้าผู้มีสิทธิร้องทุกข์ไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือ โดยมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อยสองคน
            ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โดยหลักแล้ว การร้องทุกข์ให้ร้องทุกข์ได้สำหรับตนเองเท่านั้น จะร้องทุกข์แทนบุคคลอื่น หรือจะให้บุคคลอื่นร้องทุกข์แทนตนเองไม่ได้ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดข้างต้น ผู้มีสิทธิร้องทุกข์จึงสามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นทำการร้องทุกข์แทนได้ และกรณีเช่นนี้ ผู้ที่ได้รับมอบหมายก็สามารถลงลายมือชื่อในคำร้องทุกข์ได้ด้วย
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 19 มกราคม 2559)
 
วันที่