Skip to main content
x

 

การพิจารณาความร้ายแรงแห่งกรณีเบิกค่าเช่าบ้านเป็นเท็จ

          

              วันนี้ ก.พ.ค. ขอบอก ขอเสนอเรื่องของนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ อุทธรณ์คำสั่งปลดออกจากราชการ  กรณีเบิกเงินค่าเช่าบ้านจากทางราชการเป็นเท็จ  เพื่อให้เห็นมุมมองพิจารณาความร้ายแรงแห่งกรณีดังกล่าว 

              เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ว่าตนได้เช่าบ้านของน้องชายจริง  แม้ปรากฏว่าบ้านหลังดังกล่าวมีเอกสารราชการยืนยันว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อุทธรณ์และสามี  แต่กรรมสิทธิ์ดังกล่าวเป็นของน้องชายของตน  ตนและสามีเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนน้องชายเท่านั้น  เนื่องจากน้องชายไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอนจึงไม่สามารถทำเรื่องขออนุมัติสินเชื่อจากธนาคารเพื่อกู้เงินซื้อที่ดินและปลูกบ้านได้  จึงมาขอให้ตนและสามีเป็นตัวแทนดำเนินการในทุกขั้นตอนเสมือนเป็นผู้ซื้อเองโดยน้องชายจะเป็นผู้ออกเงินซื้อและผ่อนชำระหนี้สินกับธนาคารด้วยตนเอง

              ก.พ.ค. พิจารณาพยานหลักฐานต่าง ๆ แล้วเห็นว่า สามีของผู้อุทธรณ์ได้ขออนุญาตก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวและยื่นคำร้องขอเลขรหัสประจำบ้านต่อเทศบาลนครปากเกร็ด  ต่อมาวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ผู้อุทธรณ์และสามีได้ทำสัญญาซื้อที่ดินดังกล่าวจากบริษัท ย. และทำสัญญากู้เงินจากธนาคารโดยได้ทำสัญญาจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันประกอบกับหลักฐานทางทะเบียนปรากฏว่าผู้อุทธรณ์และครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านหลังนี้เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2547  โดยสามีของผู้อุทธรณ์ มีสถานภาพเป็นเจ้าบ้าน  ซึ่งต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ผู้อุทธรณ์ได้ทำสัญญาเช่าบ้านหลังนี้จากน้องชายของตนและได้ขอเบิกเงินค่าเช่าบ้านเรื่อยมาจนถึงเดือนเมษายน 2549

             กรณีนี้จึงเห็นได้ว่า ผู้อุทธรณ์และสามี มีชื่อเป็นทั้งผู้ซื้อที่ดิน ผู้กู้เงิน ผู้จำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างบ้านและขอเลขรหัสประจำบ้าน  ซึ่งเรื่องดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าของบ้านที่จะต้องกระทำ  แต่ไม่ปรากฏว่า น้องชายของผู้อุทธรณ์จะได้ดำเนินการหรือมีหลักฐานแสดงตัวในฐานะเจ้าของบ้านแต่อย่างใดประกอบกับผู้อุทธรณ์และครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านเลขที่ดังกล่าวก่อนที่จะทำสัญญาเช่าบ้านกับน้องชาย  และยังอยู่อาศัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน  โดยที่น้องชายมีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในบ้านที่จังหวัดลำปาง มิได้เคยย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้แต่อย่างใดเช่นกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้อุทธรณ์และสามีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านหลังดังกล่าว  การใช้สิทธิเบิกค่าเช่าบ้านจึงขัดกับพระราชกฤษฎีกาค่าเช่าบ้านข้าราชการ พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม  พฤติการณ์เป็นการทุจริตฉ้อโกงเงินของทางราชการจึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงคำอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น  ก.พ.ค. จึงมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์

            หวังว่าเรื่องที่หยิบยกมานี้ คงเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้เพื่อนข้าราชการไม่ใช้สิทธิเบิกเงินค่าเช่าบ้านในลักษณะเป็นการทุจริตฉ้อโกงเงินของทางราชการได้เป็นอย่างดีนะคะ

(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัย คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม 2558)

วันที่