Skip to main content
x

 

การพิจารณาความร้ายแรงแห่งกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการ

     

                 วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอมุมมองในการพิจารณาความร้ายแรงแห่งกรณี  โดยครั้งนี้จะเป็นมุมมองการพิจารณาในกรณีละทิ้งหน้าที่ราชการ  ซึ่งเป็นเรื่องราวในการพิจารณาอุทธรณ์ที่หัวหน้าสถานีอนามัย (เจ้าพนักงานสาธารณสุข) แห่งหนึ่งได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค. ในการที่ถูกผู้ว่าราชการจังหวัด ก. สั่งลงโทษปลดออกจากราชการ  ฐานละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง  ตามมาตรา 85 (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
                กรณีนี้ผู้อุทธรณ์ได้ยอมรับในอุทธรณ์ว่า ผู้อุทธรณ์ได้ขาดราชการจริง ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาในส่วนนี้แล้วเห็นว่าผู้อุทธรณ์ขาดราชการ รวม 9 วัน โดยไม่ปรากฏว่ามีการยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาอนุญาต จึงเป็นกรณีที่ผู้อุทธรณ์ไม่มายังสถานที่ราชการเพื่อปฏิบัติราชการตามหน้าที่ หรือเพื่อให้ผู้บังคับบัญชามอบหมายงานให้ปฏิบัติ  และเหตุผลของการขาดราชการดังกล่าว ก็ล้วนเป็นธุระส่วนตัวของผู้อุทธรณ์  ทั้งยังเป็นการเอาเวลาของทางราชการไปหาประโยชน์ให้กับตนเอง  การขาดราชการนี้จึงเป็นการกระทำที่ไม่มีเหตุผลอันสมควร
                อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลเสียหายแก่ราชการ ซึ่งแม้ผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์ได้ให้ถ้อยคำว่า การขาดราชการของผู้อุทธรณ์ส่งผลกระทบต่องานด้านการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่  ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ  กล่าวคือ บุคลากรคนอื่นต้องรับผิดชอบงานแทน  ทำให้งานในส่วนที่ผู้อื่นรับผิดชอบนั้นต้องล่าช้าออกไป มีการส่งรายงานไม่ตรงตามกำหนดทำให้จังหวัดต้องทวงถามบ่อยส่งผลกระทบต่อการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ส่งผลเสียต่อการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานที่ส่งล่าช้านั้น ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานฯ ต่อความศรัทธาของประชาชน เป็นต้น  ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานในสำนวนที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าการขาดราชการนั้นเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงอย่างไร  เมื่อใด  และผลเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลโดยตรงจากเหตุที่ผู้อุทธรณ์ละทิ้งหน้าที่ราชการหรือไม่ประกอบกับ ผู้อุทธรณ์ขาดราชการเป็นระยะเวลา 9 วัน ไม่ติดต่อกัน อีกทั้ง ผู้บังคับบัญชาก็รับว่าผู้อุทธรณ์ได้มาขออนุญาตเพื่อไปติดต่อเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินสหกรณ์  จึงแสดงให้เห็นว่าบางช่วงเวลาที่ผู้อุทธรณ์ได้ขาดราชการไปนั้น  อยู่ในความรู้เห็นของผู้บังคับบัญชาด้วย  กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ราชการเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงตามมาตรา 85 (2)  แต่เมื่อผู้อุทธรณ์ขาดราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร  พฤติการณ์จึงเป็นการไม่อุทิศเวลาของตนให้แก่ราชการเป็นความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรงตามมาตรา 82 (5)
                ดังนั้น การพิจารณาว่าการละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงนั้น  ต้องปรากฏพยานหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรงอย่างไร  เมื่อใดและผลเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลโดยตรงจากเหตุที่ละทิ้งหน้าที่ราชการหรือไม่ อีกด้วย
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก"  ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม 2558)

 

วันที่