Skip to main content
x
 

การพิจารณาความร้ายแรงแห่งกรณีปลอมแปลงลายมือชื่อ

                  
                       วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” ขอเสนอมุมมองในการพิจารณาความร้ายแรงแห่งกรณีต่อจากครั้งที่แล้ว  ซึ่งเป็นเรื่องราวในการพิจารณาอุทธรณ์ที่หัวหน้าสถานีอนามัย  (เจ้าพนักงานสาธารณสุข) แห่งหนึ่งได้อุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค. ในการที่ถูกผู้ว่าราชการจังหวัด ก. สั่งลงโทษปลดออกจากราชการ  ฐานละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง  และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 (2) และ (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551  โดยครั้งนี้จะเป็นมุมมองการพิจารณาในกรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้ปลอมแปลงลายมือชื่อผู้อื่นเพื่อกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์
                        เรื่องนี้ผู้อุทธรณ์ได้ยอมรับว่าได้ปลอมลายมือชื่อของนาง ค. ผู้บังคับบัญชาในหนังสือรับรองผู้บังคับบัญชา ตามเอกสารคำขอกู้เงินสหกรณ์ เนื่องจากเกรงว่าจะส่งเอกสารคำขอกู้เงินไม่ทัน  และยอมรับว่าได้ปลอมลายมือชื่อนาย ข.  ในฐานะพยานตามเอกสารคำขอกู้เงินสหกรณ์ด้วยเหตุที่เข้าใจว่าคงไม่เป็นไร เพราะข้อความที่ปรากฏในสลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน เป็นข้อความตรงตามความเป็นจริงไม่ได้แก้ไขใด ๆ  แม้ผู้อุทธรณ์จะปฏิเสธว่าไม่ได้ปลอมลายมือชื่อของผู้ค้ำประกัน  ซึ่งขัดแย้งกับถ้อยคำของผู้บังคับบัญชา  เพื่อนร่วมงาน และผู้ค้ำประกันที่ต่างยืนยันในแนวทางเดียวกันว่า ผู้อุทธรณ์ได้ปลอมลายมือชื่อเพื่อขอกู้ยืมเงินสหกรณ์ก็ตาม  แต่ ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ว่าผู้อุทธรณ์จะได้ปลอมลายมือชื่อผู้ค้ำประกันจริงหรือไม่ ผู้อุทธรณ์ก็ยังคงต้องรับผิดในการปลอมลายมือชื่อนาง ค. และ นาย ข. อยู่ดี
                    นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาเอกสารหลักฐานการจ่ายเงินเดือนของผู้อุทธรณ์ 3 เดือนก่อนที่จะส่งเอกสารคำขอกู้เงิน พบว่ามีเงินเดือนเหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพียง 1,000 บาทเศษ  ซึ่งไม่เพียงพอที่จะขอกู้ยืมเงินสหกรณ์  และสอดคล้องกับถ้อยคำของนาง ค. และ นาย ข. ที่ระบุว่าผู้อุทธรณ์ปลอมลายมือชื่อของตนในหนังสือรับรองของผู้บังคับบัญชาโดยเพิ่มเติมในส่วนของเงินเพิ่มพิเศษต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนทำงานนอกเวลา (OT) เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นความจริงรวมเป็นเงิน 6,180 บาท
                    ดังนั้น เมื่อฟังได้ว่าผู้อุทธรณ์ได้ปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นไปหาประโยชน์จริงประกอบกับมีหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0505/ว 197 ลงวันที่ 17พฤศจิกายน 2548 แจ้งมติคณะรัฐมนตรีให้ส่วนราชการและคณะกรรมการข้าราชการตามกฎหมายต่างๆ ถือปฏิบัติว่า  ในกรณีข้าราชการกระทำผิดวินัยโดยปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นไปหาประโยชน์ ให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษอย่างน้อยปลดออกจากราชการ  ดังนั้น การที่คู่กรณีในอุทธรณ์สั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
                    ดังนั้น จึงพึงตระหนักว่า หากมีกรณีปลอมลายมือชื่อของผู้อื่นไปหาประโยชน์แล้วให้ถือว่าเป็นความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษอย่างน้อยปลดออกจากราชการ  
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 8 ธันวาคม 2558)

 

วันที่