Skip to main content
x

 

การดำเนินการทางวินัยกับคำพิพากษาในคดีอาญา

 

          “ก.พ.ค. ขอบอก” คราวนี้ ขอกล่าวถึงกรณีเกี่ยวกับการดำเนินการทางวินัยที่ไปเกี่ยวเนื่องกับคำพิพากษาในคดีอาญาว่า หากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีอาญาแล้วจะถือว่าผู้นั้นยังคงมีความผิดทางวินัยอยู่หรือไม่
          เรื่องนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า การกระทำของผู้อุทธรณ์เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 85 วรรคสอง และมาตรา 98 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535  จึงส่งเรื่องให้กรมต้นสังกัดพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้อุทธรณ์ในฐานความผิดดังกล่าว และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ต่อไป โดยกรณีนี้กรมต้นสังกัดได้สั่งลงโทษปลดผู้อุทธรณ์ออกจากราชการและพนักงานอัยการจังหวัดได้ยื่นฟ้องผู้อุทธรณ์ต่อศาล โดยใช้หลักฐานการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์
          ผู้อุทธรณ์จึงได้ยื่นอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. และกล่าวอ้างว่า ศาลอุทธรณ์ก็ยังไม่เห็นด้วยกับพยานหลักฐานและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงยกฟ้องโจทก์ มาเพื่อให้ ก.พ.ค. พิจารณาให้ความเป็นธรรม ซึ่ง ก.พ.ค. พิจารณาประเด็นนี้แล้วเห็นว่า ในส่วนคดีอาญา ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยต่อเมื่อพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริง หากพยานหลักฐานไม่เพียงพอหรือยังเป็นที่สงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาหรือไม่ ศาลจะต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 โดยพิพากษายกฟ้อง  ส่วนการดำเนินการทางวินัยมีกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนการสอบสวนพิจารณาโทษทางวินัยไว้โดยเฉพาะต่างหากจากคดีอาญา  ดังนั้น การพิจารณาดำเนินการทางวินัยไม่จำต้องตรงกับผลคดีอาญาเสมอไป  แม้คดีอาญาจะมีคำพิพากษายกฟ้อง  ก็มิได้หมายความว่าข้าราชการผู้นั้นมิได้กระทำความผิดวินัยตามที่ถูกกล่าวหา
          เรื่องนี้สอดคล้องกับหนังสือเวียน ก.พ. ที่ สร 0904/ว 4 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2509 เรื่อง การสอบสวนพิจารณาโทษข้าราชการที่ไม่จำเป็นต้องรอฟังผลทางคดีอาญาแต่อย่างใด  ดังนั้น ผลการพิจารณาดำเนินการทางวินัยจึงไม่จำเป็นต้องตรงกับผลคดีอาญาเสมอไป นะ..ขอบอก
 
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2559)
 
วันที่