Skip to main content
x

 

กรณีที่ถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง

         

          วันนี้ “ก.พ.ค. ขอบอก” จะมาขอบอกเรื่องราวที่กฎหมายถือว่าเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งที่สามารถดำเนินการทางวินัยได้โดยไม่จำต้องสอบสวน  หรืองดการสอบสวนก็ได้  โดยข้อเท็จจริงที่จะบอกในวันนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งต้องนำกฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2539) ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นมาพิจารณา
          เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในวันเสาร์ ที่โรงพยาบาลในจังหวัดแห่งหนึ่ง  พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการสาวผู้ซึ่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้มารับบริการที่งานผู้ป่วยในได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยใน 2 คน เป็นเงิน 3,049 บาท  แต่ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ป่วยทั้งสองราย  และไม่ได้นำเงินดังกล่าวส่งให้แก่โรงพยาบาลแห่งนั้น อีกทั้งปรากฏว่าเวชระเบียน (ประวัติ) ของผู้ป่วยทั้งสองรายก็หายไปด้วย  แต่ต่อมาได้พบเวชระเบียนดังกล่าวในล็อคเกอร์ของพยาบาลสาวรายนี้  ซึ่งต่อมาก็ได้ให้การรับสารภาพกับคณะกรรมการสอบสวนวินัย (อย่างไม่ร้ายแรง) ว่าได้นำเงินจำนวนนี้ไปจริง เนื่องจากต้องนำไปใช้จ่ายในครอบครัว  โดยคิดว่าเมื่อได้รับเงินค่าตอบแทนนอกเวลาราชการแล้วก็จะนำมาคืน  ในชั้นแรกพยาบาลสาวรายนี้ถูกลงโทษตัดเงินเดือน 5% เป็นเวลา 2 เดือน  แต่ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าการกระทำนี้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ  จึงได้มีการเพิ่มโทษเป็นปลดออกจากราชการ  ผู้นี้จึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.
          ก.พ.ค. พิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะที่ผู้อุทธรณ์ให้ถ้อยคำรับสารภาพนั้น ผู้อุทธรณ์อายุ 35 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีและรับราชการมาเป็นเวลานานพอสมควร เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานในวงราชการ จึงไม่ใช่ผู้ที่จะถูกขู่เข็ญ ชักจูงหรือล่อลวง เพื่อให้ถ้อยคำรับสารภาพได้โดยง่าย  และยังมีพยานอีก 2 ปากที่ให้ถ้อยคำสอดคล้องกับถ้อยคำรับสารภาพของผู้อุทธรณ์ ว่าผู้อุทธรณ์ได้ยอมรับกับพยานทั้งสองคนว่าผู้อุทธรณ์เป็นผู้นำเงินผู้ป่วยไปจริง  ดังนั้น จึงเชื่อได้ว่าผู้อุทธรณ์ได้ให้ถ้อยคำรับสารภาพต่อคณะกรรมการสอบสวนด้วยความสมัครใจ  และมีการบันทึกถ้อยคำรับสารภาพดังกล่าวเป็นหนังสือ กรณีจึงถือว่าเป็นความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ผู้บังคับบัญชาของผู้อุทธรณ์สามารถดำเนินการทางวินัยโดยไม่สอบสวนก็ได้ อุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น ก.พ.ค. จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์
          “ก.พ.ค. ขอบอก” จึงอยากจะแจ้งกับท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่งว่า การรับสารภาพเป็นหนังสือนั้นถือเป็นกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้งซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในกฎ ก.พ. ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2539) ว่าด้วยกรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง และกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ. 2556 หมวด 5 กรณีความผิดที่ปรากฏชัดแจ้ง ที่ผู้บังคับบัญชาสามารถดำเนินการโดยไม่สอบสวนก็ได้
(ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน คอลัมน์ "ก.พ.ค. ขอบอก" ฉบับวันที่ 27 ต.ค. 2558)
 
วันที่